การรัดเท้า (纏足) วัฒนธรรมจีนสมัยโบราณด้วยการรัดเท้าของสตรีให้คับแน่นจนมีลักษณะเรียวเล็กคล้ายดอกบัว เรียกว่า "บัวทองสามนิ้ว" (三寸金蓮) แต่ต้องแลกด้วยความเจ็บปวดและเสี่ยงที่จะติดเชื้อ


วัฒนธรรมการรัดเท้า (纏足)
ภาพ: 搜狐

สันนิษฐานว่าวัฒนธรรมการรัดเท้ามีมาตั้งแต่ช่วงห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร เริ่มต้นในกลุ่มผู้ลากมากดีเพื่อแสดงฐานะทำนองว่า "มีเพียงสตรีจากครอบครัวฐานะดีเท่านั้นที่จะรัดเท้าได้เนื่องจากไม่ต้องทำมาหากินเอง"

แต่ภายหลังวัฒนธรรมการรัดเท้าได้แพร่หลายออกไปในสตรีทุกชนชั้นจนกลายเป็นความเชื่อว่า "สตรีเท้าเล็กจะไม่ลำบาก" ครอบครัวจีนจึงรัดเท้าลูกสาวเพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้แต่งงานกับสามีฐานะดี

การรัดเท้ายิ่งทำตอนอายุน้อยยิ่งง่ายเนื่องจากกระดูกยังโตไม่เต็มที่ เด็กที่รัดเท้าจะต้องเผชิญความเจ็บปวดและมักจะมีปัญหาการเดินเมื่อเข้าสู่วัยชราจนอาจถึงขั้นเดินไม่ได้ (ต่างจากคนที่เริ่มรัดเท้าตอนโต)

ตำนานสมัยราชวงศ์ซางเล่าว่า แม้ต๋าจี่จะมีรูปโฉมสคราญแต่กลับมีเท้าแปผิดปกติ นางจึงขอให้พระเจ้าโจ้วรับสั่งสตรีทุกคนในราชสำนักผูกรัดเท้าจนมีรูปร่างเหมือนเท้าของนางและกลายเป็นมาตรฐานความงามของสตรี

ตำนานสมัยราชวงศ์หนานฉีเล่าว่า พานอวี้หนูมีเท้าที่เล็กมาก เมื่อนางร่ายรำบนพื้นที่ประดับด้วยดอกบัวจึงดูเหมือนมีดอกบัวผุดขึ้นในทุกย่างก้าวของนาง เซียวเป่าเจวียนผู้ขาดเขลาจึงทำกระเบื้องลวดลายดอกบัวให้นางก้าวเดิน

เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นว่าการรัดเท้าเป็นประเพณีป่าเถื่อนเสมือนวัฒนธรรมมืดที่น่าอับอาย จนกระทั่งการรัดเท้าเสื่อมความนิยมและกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเวลาต่อมา