ในประวัติศาสตร์จีนมีการกล่าวถึงเรื่องราวของวีรบุรุษนาม 'หลี่จื้อเฉิง' (Li Zicheng: 李自成) ผู้นำในการก่อกบฏล้มล้างการปกครอง แม้เขาจะไม่ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแต่บรรดาประชาราษฎรต่างพร้อมใจยอมรับเขาในฐานะจักรพรรดิด้วยวีรกรรมยิ่งใหญ่ในการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์จีน


หลี่จื้อเฉิง (Li Zicheng: 李自成)

หลี่จื้อเฉิงเกิดเมื่อ 22 กันยายน 1606 ในมณฑลส่านซี เขาเกิดในครอบครัวชาวนาฐานะยากจน หลี่จื้อเฉิงมีชื่อเดิมว่า 'หลี่ หงจี' (Li Hongjī) เขาเป็นผู้ทักษะยุทธ์ทั้งการขี่ม้าและยิงธนู เรื่องราวของเขามักจะถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะมุมมองด้านความรักและเสียสละเพื่อชาติ

ย้อนกลับไปในรัชสมัยจักรพรรดิฉงเจินผู้ไร้ความสามารถ ขุนนางกังฉินครองความเป็นใหญ่ในราชสำนัก ราษฎรถูกกดขี่ข่มเหงอย่างแสนสาหัสจนเกิดกลุ่มกบฏลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของราชสำนัก หลี่จื้อเฉิงเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ลุกขึ้นต่อต้านและกองกำลังของเขาก็นับได้ว่ามีอิทธิพลมากที่สุด

การนำทัพของหลี่จื้อเฉิงได้รับการสนับสนุนจากเหล่าประชาราษฎร์ เขาแจกจ่ายเสบียงให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและยังให้ที่ดินแก่ราษฎรเพื่อใช้ทำมาหากินโดยไม่ต้องเสียภาษี การกระทำของหลี่จื้อเฉิงจึงเป็นการใช้ใจซื้อใจ เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปผู้คนจึงต่างให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่

เคยมีข่าวลือว่าหลี่จื้อเฉิงเป็นคนโหดร้าย แต่เขาสามารถแก้ทางได้ด้วยการปลอมตัวแล้วใช้อุบายบอกให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนแขวนโคมแดงไว้ที่หน้าบ้าน ถ้าหลี่จื้อเฉิงเห็นบ้านไหนแขวนโคมแดงไว้ก็จะได้รับการช่วยเหลือ บรรดาชาวบ้านจึงพากันแขวนโคมแดงเอาไว้แล้วก็ได้รับการช่วยเหลือจริงดังว่า นับแต่นั้นมาการแขวนโคมแดงจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

กองทัพหลี่จื้อเฉิงสามารถบุกยึดหัวเมืองต่างๆที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ จนสุดท้ายก็สามารถบุกยึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จในปี 1644 จักรพรรดิฉงเจินหนีขึ้นไปยังเขาเจียงซานและผูกพระศอตัวเองกับต้นไม้ หลี่จื้อเฉินจึงกลายเป็นผู้นำในการล้มล้างการปกครองของจักรพรรดิและขุนนางกังฉินได้สำเร็จ

กระนั้นก็ตามที แม้หลี่จื้อเฉิงจะยึดกรุงปักกิ่งอันเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศได้แล้ว แต่ยังคงมีกองกำลังที่แข็งแกร่งทางเหนือได้แก่ กองทัพของอู๋ซานกุ้ยและทัพแมนจูที่มีศักยภาพเพียงพอในการล้มล้างกองกำลังของเขาได้ ดังนั้นหลี่จื้อเฉิงจึงต้องการให้อู๋ซานกุ้ยยอมสวามิภักดิ์

ด้านอู๋ซานกุ้ยยอมสวามิภักดิ์ตามคำแนะนำในจดหมายของบิดาและหมายจะเดินทางเข้ากรุงปักกิ่ง แต่ระหว่างทางอู๋ซานกุ้ยรู้ข่าวว่าบิดาถูกหลี่จื้อเฉิงบังคับให้เขียนจดหมายแถมเฉินหยวนหยวนผู้เป็นที่รักก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันด้วยเขาจึงโกรธมากจนตัดสินใจเปิดด่านให้ทัพแมนจูบุกเข้ากรุงปักกิ่ง

ทัพของหลี่จื้อเฉิงไม่อาจต้านทางกองกำลังที่แข็งแกร่งของทัพแมนจูได้ เขาพ่ายแพ้อย่างย่อยยับและถูกสังหารลงในปี 1645 เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นการจบสิ้นราชวงศ์หมิงอย่างสมบูรณ์เมื่อทัพแมนจูยึดกรุงปักกิ่งและสถาปนาราชวงศ์ชิงปกครองแผ่นดินจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา


โคมแดงในเทศกาลจีน

แม้หลี่จื้อเฉิงจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 39 ปี แต่วีรกรรมความกล้าหาญและเสียสละของเขาจะถูกเล่าขานไปอีกนับร้อยนับพันปีในฐานะวีรบุรุษผู้พิชิตทรราช โดยในทุกช่วงเทศกาลสำคัญที่มีการนำเอาโคมแดงมาประดับตกแต่งก็จะเป็นเหมือนการรำลึกถึงคุณงามความดีของจักรพรรดิที่ไม่ใช่จักรพรรดิผู้นี้