หากกล่าวถึง 4 ยอดวรรณกรรมจีนคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเรื่องไซอิ๋วและสามก๊กเพราะมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์บ่อยกว่าอีกสองเรื่องที่เหลือคือ ซ้องกั๋งและความฝันในหอแดง ดังนั้นในวันนี้เราจึงมาแนะนำให้รู้จักกับ 1 ในสี่วรรณกรรมกันกับเรื่องซ้องกั๋ง


ซ้องกั๋ง - 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน (Shuizu Zhuan/ Water Margin)

            ซ้องกั๋ง หรือ ชื่อในภาษาจีนกลางคือ “สุยหู่จ้วน” (Shuizu Zhuan/ Water Margin) นับเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่องสำคัญที่ไม่เน้นการดำเนินเรื่องในแบบสนุกสนานหรือดราม่าเหมือนวรรณทั่วไปแต่จะเน้นไปที่ความสะเทือนใจของเหล่าโจรผู้รักชาติที่ต้องพบกับจุดจบอันน่าเศร้า
            ในยุคสมัยอันฟอนเฟะของราชสำนักจีน “ฮ่องเต้ซ่งฮุยจง” (Emperor Huizong) ไม่สนใจบริหารงานบ้านเมือง ปล่อยให้ขุนนางกังฉินครอบครองอำนาจโดยการนำของ “เกาฉิว” ลูกหลานผู้ดีตกยากที่เพียงเล่นลูกหนังเก่งและขี้ประจบสอพลอ ประชาชนคนดีต่างถูกใส่ร้ายป้ายสีและกดขี่ข่มเหงสารพัดจนต้องหนีขึ้นไปรวมตัวกันที่เขาเหลียงซาน
            ขุนนางกังฉินยังคงเรืองอำนาจอยู่ในเมืองหลวง การต่อต้านก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง “เฉาก้าย” ผู้นำของเขาเหลียงซานได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตลง “ซ่งเจียง” จึงก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำคนต่อมาและรวบรวมผู้กล้าจากทั่วสารทิศพร้อมชูธง “ผดุงคุณธรรมแทนสวรรค์” โดยมีผู้กล้าทั้ง 108 คนเป็นแกนนำ
            ชื่อเสียงของผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานระบือไกลถึงเมืองหลวงจนฮ่องเต้และขุนนางกังฉินเริ่มหวาดกลัวจึงคิดจะกำจัดทิ้งเสีย แต่ชัยภูมิเขาเหลียงซานเป็นลุ่มน้ำ มีทางน้ำสลับซับซ้อนอีกทั้งยังมีแกนนำที่เก่งกาจในการรบทางเรือจึงยากที่ราชสำนักจะเอาชนะได้ แม้จะพยายามส่งคนจากราชสำนักไปเจรจาแต่ก็ไม่ได้ผลเนื่องด้วยความไม่พอใจที่สะสมมานมนานและการที่ขุนนางที่ถูกส่งไปไม่มีความจริงใจ
            กองกำลังแห่งเหลียงซานแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆแต่แล้วจุดจบของผู้กล้าก็มาถึง ซ่งเจียงนั้นไม่ต้องการถูกตราหน้าว่าเป็นโจรกบฏตลอดไป เขาตัดสินใจสวามิภักดิ์รับใช้ราชสำนักเพื่อลบล้างความผิด แม้จะมีหลายคนออกมาคัดค้านแต่ก็ไมเป็นผลจนบางคนขอแยกทางไป ฝั่งเกาฉิวเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีจึงใช้อุบายส่งพวกเหลียงซานไปเป็นแนวหน้าในการรบทำให้แกนนำหลายต่อหลายคนต่างจบชีวิตลงในสงคราม ส่วนผู้ที่รอดมาได้ก็ยังไม่วายถูกเล่นงานลับหลังจนสุดท้ายเหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานก็เหลือเพียงชื่อและวีรกรรมให้ได้เชยชม...

            เนื้อหาในสุยหู่จ้วนเกิดจากการนำเอาบทงิ้วที่ศิลปินนำมาแสดงและจากการเล่าขานของชาวบ้านมาเรียงร้อยถ้อยคำโดย “ซือไน่อัน” (Shi Ni’an) และได้รับการปรับปรุงอีกครั้งโดย “หลอกว้านจง” (Luo Guanzhong) จนทำให้สุยหู่จ้วนกลายเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง


ซ้องกั๋ง - 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน (Shuizu Zhuan/ Water Margin)

            สำหรับชื่อ “ซ้องกั๋ง” หรือ “สุยหู่จ้วน” นั้นอาจจะไม่คุ้นหูมากนัก เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์นิยมใช้ชื่อทำนองว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน, 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน, 108 ผู้กล้าเหลียงซานปอ, วีรบุรุษเขาเหลียงซาน” หรือชื่ออื่นๆที่คล้ายกันนี้


ซ้องกั๋ง - 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน 1988 (Shuizu Zhuan/ Water Margin)

            มีการนำประวัติของผู้กล้าบางคนไปแยกเขียนเป็นวรรณกรรมเช่น หลินชง บู๊สง ส่วนใครที่อยากชมภาพยนตร์ผู้กล้าเขาเหลียงซานแบบเต็มๆก็แนะนำให้ดูเวอร์ชั่น 1998 (มีในยูทูป) ซึ่งไม่ได้เน้นความสวยงามของภาพแต่บรรยากาศสมจริงและสะเทือนใจมากๆ