เขาเนินเสือ (Tiger Hill: 虎丘) เนินเขาขนาดย่อมตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองซูโจวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 5 กิโลเมตร เขาเนินเสือ (เนินหู่ชิว) มีความสูง 36 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ราว 20 เฮกตาร์ แม้ขนาดของเขาเนินเสือจะไม่ใหญ่โตมากมาย แต่เป็นจุดชมวิวที่ได้รับความนิยมในเมืองซูโจว


เขาเนินเสือ (Tiger Hill: 虎丘)
ภาพ: China Discovery

เขาเนินเสือเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของคนในท้องถิ่น ในฤดูใบไม้ผลิจะมีการจัดแสดงศิลปะดอกไม้ ฤดูใบไม้ร่วงมีการจัดเทศกาลโคมไฟ การแสดงพื้นบ้านจากทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ในปี 2002 เขาเนินเสือถูกยกให้เป็นจุดท่องเที่ยวระดับ 4A และในปี 2010 ก็ได้รับการยกระดับขึ้นไปเป็นจุดท่องเที่ยวระดับ 5A ของจีน

สำหรับชื่อ "เขาเนินเสือ" ถูกเรียกตามลักษณะของเนินเขาที่ดูคล้ายกับเสือกำลังตั้งท่าหมอบเตรียมพร้อมที่จะกระโจนไปด้านหน้า กวีสมัยราชวงศ์ซ่งถึงกับกล่าว่า "มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายไปตลอดชีวิต หากไปซูโจวแล้วไม่ไปเยือนเขาเนินเสือ"

ตำนานกล่าวว่าเมื่อ 496 ปีก่อนคริสตกาล (ยุคชุนชิว) กษัตริย์เหอหลูแห่งรัฐอู๋สวรรคตระหว่างทำศึกกับแคว้นเย่ว์ ฟูชาผู้เป็นโอรสจึงนำร่างมาฝังไว้บนเนินเขา โดยสามวันหลังจากพิธีศพมีเสือขาวตัวหนึ่งมานั่งบนหลุมฝังศพราวกับกำลังทำหน้าที่ปกป้องสุสานจึงเป็นที่มาของชื่อเนินเขาเสือ

บนยอดเขามีเจดีย์โบราณคู่เมืองซูโจวเรียกว่า "เจดีย์เนินเสือ" (Tiger Hill Pagoda: 云岩寺塔) หรือ "เจดีย์หู่ชิว" (Huqiu Tower: 虎丘塔) โดยเป็นส่วนหนึ่งของวัดหยุนเหยียน (Yunyan Temple) เจดีย์มีทรงแปดเหลี่ยมสูง 7 ชั้น สร้างสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ แม้องค์เจดีย์จะมีลักษณะเอน 3.59 องศาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือทำให้ดูแล้วคล้ายกับหอเอนเมืองปิซา แต่ยังคงอยู่รอดผ่านกาลเวลามานับพันปีโดยไม่ได้รับความเสียหาย

จุดที่ลึกลับและน่าดึงดูดที่สุดของเนินเขาเสือ ได้แก่ "หินทดสอบดาบ" (Sword Testing Stone) และ "สระกระบี่" (Sword Pool) กล่าวกันว่ากษัตริย์เหอหลูเป็นนักสะสมดาบ เขาทดสอบดาบกับก้อนหินจนเกิดเป็นร้องรอยบนก้อนหิน

ส่วนสระกระบี่มีความลึก 7 เมตร น้ำในสระใสสะอาดมากจนมองเห็นเบื้องล่างได้อย่างชัดเจน เชื่อว่าดาบล้ำค่ามากมายของกษัตริย์เหอหลูถูกฝังเอาไว้ใต้สระพร้อมกับซากศพของคนงานกว่าพันคนที่ถูกสังหารหลังจากสร้างสระน้ำแห่งนี้เสร็จ

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาสมัยราชวงศ์ถังนามว่า "หลูอวี้" เคยอาศัยอยู่บนเขาเนินเสือและเขียนหนังสือเกี่ยวกับชาเล่มแรกของจีนขึ้นมา ตามบันทึกกล่าวว่าหลูอวี้ขุดบ่อน้ำขึ้นมาหลังค้นพบว่าน้ำบนเขาเนินเสือมีคุณภาพดีมากซึ่งเป็นหนึ่งในสามแหล่งน้ำที่เหมาะแก่การชงชาที่สุดของจีน โดยงานเขียนของเขาส่งผลให้การปลูกและบริโภคชากลายเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวเมืองซูโจว