การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างบ้านต่างเมืองสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือมารยาทของผู้คนในสังคมนั้นๆโดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับมายาทอย่างญี่ปุ่นแล้วยิ่งต้องระวังกันให้ดี ดังนั้นเราจึงขอแนะนำเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเรื่องการวางตัวในสังคมเพื่อไม่ให้เสียมารยาทและได้รับการต้อนรับที่เป็นมิตร


มารยาทในญี่ปุ่น เรื่องต้องห้ามและสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในสังคมญี่ปุ่น

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับมารยาทมากถึงขั้นกับมีการเขียนเป็นตำราและเปิดเป็นสถาบันสอนมารยาทกันเลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นยังมีการจัดสอบวัดระดับความสามารถในเรื่องมารยาทอย่างเป็นทางการซึ่งหากสอบได้คะแนนดีนั่นก็หมายถึงระดับเงินเดือนที่สูงขึ้นไปด้วย

การทักทาย
• การทักทายเป็นการสร้างความประทับใจแรกแก่กันและไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องทำความเคารพผู้ใหญ่ก่อนเสมอไป ชาวญี่ปุ่นจะเปรียบว่าถ้าเพียงแค่การทักทายยังทำไม่เป็นก็ทำอะไรไม่เจริญ โดยการทักทายขั้นพื้นฐานนอกเหนือจากคำพูดแล้วก็คือการโค้งคำนับ ขนาดทักทายทางโทรศัพท์ยังต้องโค้งคำนับเลย

สำหรับการโค้งทักทายของญี่ปุ่นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ เริ่มจากการโค้งทั่วไปแบบกันเองจะโค้งตัวไปข้างหน้า 15 องศา ต่อมาเป็นการโค้งทักทายหัวหน้าหรือลูกค้าจะโค้ง 30 องศา (หัวหน้าและลูกค้ามีความสำคัญเท่ากัน) สุดท้ายเป็นการโค้งทักทายผู้หลักผู้ใหญ่จะโค้ง 45 องศา

ในการโค้งตัวคำนับนั้นมีสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างชายกับหญิงคือ เวลาโค้งฝ่ายชายจะวางมือทั้ง 2 แนบข้างลำตัว ส่วนฝ่ายหญิงจะคว่ำมือประสานกันไว้บริเวณหน้าท้อง นอกจากนี้การจากลาก็เป็นเรื่องสำคัญคือจะต้องรอจนกว่าแขกจะเดินลับตาไปเสียก่อนจึงจะละสายตาได้ซึ่งถือเป็นการจากลาที่สมบูรณ์

การแต่งกาย
• ในการติดต่อกับคนญี่ปุ่นจะต้องวางภาพลักษณ์ให้ดูดีอยู่เสมอ สำหรับผู้ชายจะต้องไม่ทำผมสีฉูดฉาด หนวดเคราอย่างให้รกจนเกินไปหากเป็นไปได้ก็โกนให้เกลี้ยง สำหรับผู้หญิงควรแต่งหน้าบางๆแบบเป็นสาวสุขภาพดี ไม่ทาเล็บสีจัด ใส่ถุงน่องสีเนื้อ สวมรองเท้าส้นสูง อุปกรณ์เสริมจะต้องสะอาดเรียบร้อย ที่สำคัญคือต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ หากสวมเสื้อนอกจะต้องติดกระดุมให้เรียบร้อย

โต๊ะอาหาร
• อาหารญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์มากไม่ว่าจะทานที่ร้านหรือในสถานที่พักก็ต้องรักษามารยาทเอาไว้อย่างเคร่งครัด ธรรมเนียมก่อนทานอาหารจะกล่าวว่า Itadakimasu และหลังจากทานเสร็จจะกล่าวว่า Gochisousama ซึ่งทั้งสองขั้นตอนจะพนมมือระดับอกและก้มศีรษะเล็กน้อยเพื่อแสดงความเคารพต่ออาหาร


มารยาทในญี่ปุ่น เรื่องต้องห้ามและสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในสังคมญี่ปุ่น

ในโหมดมารยาทบนโต๊ะอาหารนั้นต้องบอกว่ามีมากและละเอียดอ่อน ชาวญี่ปุ่นจะยกชามหรือถ้วยขึ้นมาอยู่ระดับอกแทนการก้มตัวลงไปกินจากบนโต๊ะ (ยกเว้นเป็นจานขนาดใหญ่) ที่สำคัญคือจะต้องทานอาหารให้หมด กรณีที่มีอาหารที่ทานไม่ได้หรือไม่ชอบก็ต้องแจ้งให้ยกกลับไปโดยไม่แตะต้องอาหารนั้น

สิ่งสำคัญบนโต๊ะอาหารที่ถือเป็นดราม่าก็คือตะเกียบ การแยกตะเกียบให้ถือในแนวแล้วบิดเป็นกากบาทโดยขั้นตอนนี้จะไม่ทำบนโต๊ะแต่จะทำบริเวณหน้าตัก การวางตะเกียบจะวางด้านปลายลงบนแท่นเท่านั้น ไม่มีการวางคร่อมบนจานชามเหมือนที่เราเคยชินกัน

การคีบอาหารเข้าปากจะต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งรองใต้อาหารเพื่อไม่ให้อาหารร่วงหรือหยดเลอะเทอะ ข้อห้ามสำคัญคือห้ามใช้ตะเกียบคีบและส่งอาหารให้กันเพราะจะเหมือนการคีบกระดูกคนเสียชีวิต หากต้องการแบ่งอาหารให้กันควรมีจานอีกใบแล้วคีบใส่จานจะสุภาพกว่า

นี่เป็นมารยาทในการใช้ตะเกียบเบื้องต้นซึ่งหากจะให้นำเสนอทั้งหมดคงต้องร่ายกันยาวเลยทีเดียว ส่วนในกรณีที่จะต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้นคนที่จะต้องขับรถห้ามดื่มเด็ดขาด โดยคนที่ร่วมวงด้วยจะต้องทำหน้าที่ห้ามไม่อย่างนั้นจะโดนข้อหาชวนดื่ม


มารยาทในญี่ปุ่น เรื่องต้องห้ามและสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในสังคมญี่ปุ่น

รถไฟ
• เมื่อรถไฟจากจอดที่สถานีสิ่งแรกที่ต้องทำคือการหลบเพื่อให้ผู้โดยสารออกมาจากขบวนให้หมดเสียก่อนแล้วจึงเดินเข้าไป เมื่อเข้าไปอยู่ในรถไฟเรียกได้ว่าทุกคนจะต้องเข้าสู่โหมดเงียบสงัด เรื่องต้องห้ามในรถไฟก็คือห้ามคุยกัน รวมทั้งไม่คุยโทรศัพท์แต่ให้ใช้วิธีแชทแทนเพื่อเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคล

บันไดเลื่อน
• การขึ้นบันไดเลื่อนรวมทั้งทางเท้าในญี่ปุ่นนั้นจะจัดระเบียบโดยคนไม่รีบให้ยืนชิดด้านซ้ายเพื่อเปิดทางให้คนที่เขาเร่งรีบกว่าได้เดินทางฝั่งขวา ยกเว้นในภูมิภาคคันไซ (เฮียวโงะ เกียวโต โอซาก้า ชิงะ นารา วากายาม่าและมิเอะ) จะสลับทิศทางจากซ้ายไปขวาและที่สำคัญคืออย่ายืนขวางบันไดเด็ดขาด