หลักปรัชญาของจีนนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายกระแส แต่หลักใหญ่ๆที่ได้รับการยึดถือปฏิบัติกันอย่างอย่างกว้างขวางมีอยู่ 2 กระแสด้วยกันนั่นคือ ปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื๊อ ในบทความนี้เราจึงขอนำเสนอวิถีคร่าวๆของ 1 ใน 2 ปรัชญาได้แก่ ปรัชญาขงจื๊อให้ได้รู้จักกัน


ปรัชญาขงจื๊อ (Confucianism)

ปรัชญาขงจื๊อ (Confucianism) คือ หลักแห่งจริยธรรมและหน้าที่พลเมือง ไม่ส่งเสริมให้มีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า นักปราชญ์ที่สำคัญที่สุดในปรัชญาขงจื๊อได้แก่ "ขงจื๊อ" ผู้ก่อตั้งสถาบันสอนวิชาแขนงต่างๆโดยมี "เม่งจื๊อ" (Mencius) และ "ซุนจื๊อ" (Xun Zi) เป็นผู้สืบทอดคำสอนของขงจื๊อให้แพร่หลาย

คัมภีร์ในปรัชญาขงจื๊อ
1. ขงจื๊อ: Lun Yu (The analects of Confucius)
2. หลักแห่งทางสายกลาง: Chung Yung (The doctrine of the mean)
3. การศึกษาที่ยิ่งใหญ่: Ta Hsueh (The great Learning)
4. เม่งจื๊อ: Meng Tzu (The Mencius)

จริยธรรมในปรัชญาขงจื๊อ
1. ความชอบธรรม (Righteousness)
ความชอบธรรมตามหลักปรัชญาขงจื๊อ หมายถึง สิ่งที่ควรจะเป็นหรือความถูกต้องเหมาะสมของเหตุการณ์ (The ought of a Situation) ทุกคนในสังคมมีหน้าที่ที่เหมาะสมกับตนในการปฏิบัติ การรู้ว่าตนเองควรจะทำสิ่งใดและการกระทำในสิ่งที่ตนควรกระทำคือ "ความชอบธรรม"

2. มนุษยธรรม (Human-Heartedness)
ตามความหมายทางปรัชญาขงจื๊อ มนุษยธรรม หมายถึง การมีความรักในบุคคลอื่น (Loving Other) หน้าที่สำคัญที่ทุกคนต้องกระทำร่วมกันคือ การมีความรักในบุคคลอื่น จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์

3. ความรู้สึกผิดชอบ (Conscientiousness)
หลักการสำคัญในการปฏิบัติคือ จงปฏิบัติต่อบุคคลอื่นให้เหมือนกับที่ตนต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อตน จึงจะนำไปสู่มนุษยธรรมและความชอบธรรม

4. ความเห็นแก่ผู้อื่น (Altruism)
ความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นการปฏิบัติในแง่ลบ มีหลักการสำคัญอยู่ว่า จงอย่าปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในสิ่งที่ตนไม่ต้องการให้บุคคลอื่นปฏิบัติต่อตนเอง หรือ อย่ายัดเยียดสิ่งที่ตนเองไม่พึงปรารถนาให้บุคคลอื่น

5. บัญญัติแห่งสวรรค์ (Decree of Heaven)
จงกระทำในสิ่งที่ตนควรกระทำอย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้องวิตกกังวลกับผลลัพธ์ที่จะตามมา จงกระทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำเพราะเป็นหน้าที่และทำเพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า ส่วนผลของงานจะออกมาในรูปแบบใดก็ไม่ควรยึดติดกับผลลัพธ์นั้น

ขงจื๊อเสนอแนวความคิดเรื่องบัญญัติสวรรค์มาอธิบายว่า บัญญัติสวรรค์อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของมนุษย์และเป็นสิ่งที่คอยบงการวิถีชีวิตของมนุษย์ ทำให้แต่ละบุคคลได้รับผลของงานและฐานะไม่เท่าเทียมกัน แต่ทุกคนควรจะทำหน้าที่ของตนให้เต็มความสามารถและถึงแม้ผลงานจะออกมาอย่างไรก็สุดแล้วแต่บัญญัติสวรรค์

6. ความสัมพันธ์ทั้งห้า (The five relationships)
สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ สังคมที่มีความชอบธรรม และการที่จะเกิดความชอบธรรมขึ้นจะต้องประกอบด้วยพื้นฐานทางสังคม ซึ่งหมายถึงครอบครัว ถ้าสามารถจัดระบบครอบครัวให้มั่นคง สังคมส่วนรวมก็จะเป็นปึกแผ่นมั่นคงและมีความสุข ซึ่งความสัมพันธ์ในครอบครัวแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

6.1 พ่อแม่มีความรักและความเมตตา ลูกจะเกิดความกตัญญู
6.2 พี่มีความสุภาพอ่อนโยน น้องจะมีความอ่อนน้อมและเคารพ
6.3 สามีมีความประพฤติถูกต้อง ภรรยาจะมีความซื่อตรงและภักดี
6.4 เพื่อนที่ดีจะมีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน
6.5 นายมีความเมตตา บ่าวจะมีความเคารพ

7. การแก้ไขชื่อตำแหน่ง (Rectification of names)
การแก้ไขชื่อตำแหน่งตามหลักปรัชญาขงจื๊อหมายถึง การรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตน เพื่อให้คนปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับฐานะและตำแหน่งอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหน้าที่ของตน

เมื่อเทียบกับหลักปรัชญาอื่นๆต้องยอมรับว่าปรัชญาขงจื๊อประสบความสำเร็จอย่างสูงที่สุด สามารถทำให้ชาวจีน (รวมทั้งเอเชียตะวันออกบางส่วน) ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักของความกตัญญูซึ่งเป็นหัวใจหลัก ในอดีตคัมภีร์ขงจื๊อถูกนำมาใช้เป็นตำราในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ